การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการจัดทำประชาพิจารณ์โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดมูลฝอยเทศบาลเมืองจันทบุรี วันที่ 2 เมษายน 2564 เวลา 14.00 น. นายสมพงษ์ ภิรมย์ชม ปลัดเทศบาลเมืองจันทบุรี เป็นประธานเปิดการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับประชาชน โดยมีนายบุญธรรม เทพพิชัย ท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี ผศ.ดร บุญเชิด หนูอิ่ม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน และตัวแทนนายอำเภอมะขาม หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานเทศบาล และประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอมะขาม หมู่ที่ 1-10 จำนวน 220 คน ร่วมประชาพิจารณ์ ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ สถานที่ฝังกลบมูลฝอยเทศบาลเมืองจันทบุรี หมู่ที่ 2 ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากเทศบาลเมืองจันทบุรี มีพื้นที่ 10.25 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 17 ชุมชน ตั้งอยู่ในตำบลวัดใหม่ และตำบลตลาด ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองและเขตเศรษฐกิจเก่าของจังหวัดจันทบุรี และในปัจจุบันตัวเมืองมีการขยายตัว และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้นประกอบกับเทศบาลเมืองจันทบุรี เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักของกลุ่ม CLUSTER อีก 45 แห่ง ในการร่วมกันกำจัดขยะมูลฝอย จึงจำเป็นต้องมีระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับขยะมูลฝอยปริมาณมากที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ โดยมอบหมายให้เอกชนมาดำเนินการกำจัดมูลฝอยของเทศบาลเมืองจันทบุรี และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการบันทึกข้อตกลงนำมูลฝอยมาร่วมกำจัดกับเทศบาลเมืองจันทบุรีด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกำจัดมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อทำการคัดแยกและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงานต่อไป โดยไม่เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และกำกับดูแลสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล พื้นที่ 117 ไร่ ซึ่งในที่ประชุมการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นร่วมกับประชาชนในพื้นที่งานโครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดมูลฝอยเทศบาลเมืองจันทบุรี ทั้งนี้มีประชาชนในเขตอำเภอมะขาม หมู่ 1 – หมู่ 10 จำนวน 220 คน เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ โดยมีข้อเสนอแนะต่าง ๆ อาทิเช่น ปัญหาของกลิ่นส่งผลต่อประชาชนบริเวณโดยรอบ ปัญหาน้ำเสียจากบ่อบำบัดซึม และไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ปัญหารถเก็บขนขยะไม่มีฝาท้ายปิด เพื่อป้องกันขยะตกหล่นขณะขนย้าย ปัญหาการคัดแยกขยะอันตรายที่ไม่ชัดเจน การกำจัดแมลงวันให้มีจำนวนน้อยลง และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ การคัดแยกขยะต้นทาง เพื่อเป็นการลดขยะในการนำไปฝังกลบให้มีปริมาณน้อยลง ในครั้งนี้เป็นการรับฟังความเห็นและประชาพิจารณ์เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยการที่ประชาชนนำเสนอข้อคิดเห็นดังกล่าว เทศบาลเมืองจันทบุรีจะนำข้อมูลประมวลผลเพื่อดำเนินการจัดการกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกำจัดมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เพื่อทำการคัดแยก และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน โดยไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หากโครงการดังกล่าวผ่านขั้นตอนต่างๆเป็นที่เรียบร้อย เทศบาลเมืองจันทบุรีจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป